วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Generation “Y” ความท้าทายใหม่สำหรับองค์กร




Generation “Y” ความท้าทายใหม่สำหรับองค์กร

Generation “Y” ความท้าทายใหม่สำหรับองค์กร
โดย ศันธยา (กิตติโกวิท) สิทธิสมวงศ์

ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี มานี้ องค์กรคงได้พบกับพนักงานสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาในองค์กร พกความมั่นใจมาเต็มร้อย พร้อมที่จะเริ่มงาน หากแต่เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ พวกเขาก็ตบเท้าออกไปจากองค์กรโดยไม่ลังเล ผู้บริหารส่วนใหญ่ยอมรับว่าพนักงานรุ่นใหม่นี้ เก่ง มีความสามารถหลากหลาย สามารถทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน (multi-tasking) และมีประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยี แต่พนักงานเหล่านี้ไม่อดทนพอที่จะทำงานอยู่กับองค์กรเพื่อรอวันที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารในอนาคต พนักงานรุ่นใหม่เหล่านี้แตกต่างไปจากพนักงานรุ่นเก่าที่องค์กรมีอยู่ ความแตกต่างและปัญหาในการทำงานร่วมกันเหล่านี้ส่งผลให้พนักงานรุ่นใหม่เหล่านี้ลาออกจากองค์กรก่อนเวลาอันควร

ทำความรู้จักกับพนักงานรุ่นใหม่-Generation Y

Generation Y (Generation Why) หรือ Millennials ในสหรัฐอเมริกาจะหมายถึงผู้ที่เกิดในระหว่างปี 2520 – 2537 (ค.ศ. 1977 - 1994) สำหรับในประเทศไทยระบุว่าคนกลุ่มนี้ คือ กลุ่มคนที่เพิ่งเกิดไม่เกินปี 2521 หรือ ขณะนี้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่เพิ่งจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท และกำลังเริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งมีจำนวนประมาณร้อยละ 20 หรือ ประมาณ 13 ล้านคน คนรุ่นวายนี้ ต้องการอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง กล้าแสดงออกทางความคิด การพูด การแต่งกาย เคารพคนอื่นที่ตัวตน ไม่ใช่ความอาวุโส มีความอดทนต่ำ ชอบท้าทายกฎระเบียบ มีความทะเยอทะยานต้องการประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ชอบการเปลี่ยนแปลง มีความกระตือรือร้น มองโลกในแง่ดี และมีไอเดียชอบคิดอะไรนอกกรอบและชอบถาม “ทำไม” ด้วยความอยากรู้มากกว่าเพียงแค่รับคำสั่ง ให้ความสนใจและรักษาสุขภาพ เนื่องจากเขาได้รับการเลี้ยงดูที่พยายามให้เขามีความมั่นใจในตัวเองและพยายามค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกพวกเขา “Generation Why”






พนักงานรุ่นใหม่ – Generation Y ความท้าทายขององค์กร

พนักงานเหล่านี้ต้องการความสมดุลระหว่างงานและชีวิตมาก (Work-Life Balance) ถ้ารู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่เขาแสวงหา ไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตของเขา เขาก็พร้อมที่จะลาออก อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานรุ่นใหม่เหล่านี้ลาออกคือตัวผู้บริหารทั้งหลายที่มักจะใช้ภาวะผู้นำและวิธีปฏิบัติแบบเดิมๆ ตัดสินและคาดหวังให้พนักงานรุ่นใหม่มีพฤติกรรมเหมือนกับตนเอง

แนวทางการปรับสภาพแวดล้อมภายในและวัฒนธรรมองค์กรโดยคำนึงถึงความหลากหลายและความแตกต่างระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า (Workforce Diversity) คือการทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่ให้ลึกซึ้ง สื่อสารกับคนรุ่นเก่าให้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างรุ่น ดังต่อไปนี้

- การจูงใจ (Motivation) คนรุ่นวายมีความต้องการทางด้านสังคม ต้องการการยอมรับ และความสำเร็จ มากกว่าเรื่องปัจจัยทางกายภาพและความมั่นคงปลอดภัย ดังนั้นการให้ความรักและกำลังใจ เป็นที่ปรึกษาทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว และเรื่องสำคัญที่สุดคือ การมอบหมายงานที่ท้าทายและให้อิสระในการทำงานกับเขา ทำให้การทำงานทุกวันเป็นวันที่สดใหม่เสมอ

- ภาวะผู้นำ (Leadership Style) ผู้นำที่เหมาะกับชาววายควรจะเป็นภาวะผู้นำแบบ Achievement Oriented หรือ Delegating ที่มอบหมายงานและความรับผิดชอบให้โดยบอกถึงผลลัพธ์ที่ต้องการให้อิสระในการคิดและความท้าทายนี้คือสิ่งที่กระตุ้นให้ชาววายเหล่านี้มีความสุขกับการทำงาน

- การสื่อสาร (Communication) ผู้บริหารต้องเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นของพนักงานชาววาย โดยวางตัวเหมือนเพื่อนหรือคนในครอบครัว หลีกเลี่ยงการวางตัวเหนือกว่า หรือแสดงอำนาจ

- โครงสร้างองค์กร (Organization Structure) รุ่นวายเติบโตมาในยุคดิจิตัล เขาสามารถ เข้าถึงข้อมูลต่างๆ และสื่อสารกับคนอื่นได้ทันที จึงทำให้เขาไม่อดทน รอคอยไม่เป็น การจะรักษาพนักงานชาววายต้องทบทวน นำรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ เช่น Team Based Structure ให้พนักงานผลัดกันขึ้นมาเป็นผู้นำโครงการ แตกหน่วยงานในบริษัทออกเป็นบริษัทย่อยๆ ให้โอกาสใน
การขึ้นสู้ตำแหน่งบริหารเร็วขึ้น

- วัฒนธรรมองค์กร ( Organizational Culture) ต้องมี ความยืดหยุ่น มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์และเป้าหมาย มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีในลักษณะเป็นเพื่อนหรือเป็นคนในครอบครัว

จาก : MMP Magazine ฉบับที่ 3

Resource:http://www.mmpchula.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น