วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เมื่อเจ้าหญิงแห่งท้องทะเลต้องหาปราสาทใหม่




เมื่อเจ้าหญิงแห่งท้องทะเลต้องหาปราสาทใหม่

โดย บิสิเนสไทย [25-8-2005]

ธุรกิจเรือสำราญ “โอเชี่ยน ปริ้นเซส” หรือ เจ้าหญิงแห่งท้องทะเล กำลังตามหาปราสาทแห่งใหม่ ด้วยการปรับองค์กรรับความเสี่ยง เดิมล่องทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ปีนี้หันมาล่องอ่าวไทยอย่างเดียว แก้วิกฤตอันดามัน ขานรับนโยบายรัฐ โครงการริเวียร่า หวังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส อาศัยข้อได้เปรียบเหลือเพียงเจ้าเดียวในเมืองไทย หลังจากที่อันดามัน ปริ๊นเซส หรือ “สตาร์ครุยซ์” ปิดกิจการไป


“บิสิเนสไทย” ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์ นายอลงกช วิสัยจร รองผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัทโอเชี่ยน ปริ้นเซส กรุ๊ป จำกัด ถึงแนวทางและทิศทางการตลาด หลังจากที่ อันดามัน ปริ๊นเซสคู่แข่งในตลาดล่องเรือสำราญ ได้ปิดกิจการไปก่อนหน้านี้เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน

ทุกวันนี้ โอเชี่ยน ปริ้นเซส โดนสถานการณ์แวดล้อมรุมเร้า ทั้งราคาน้ำมัน ปัจจัยหลักของต้นทุนค่าใช้จ่าย กำลังซื้อชะลอและความหวาดกลัวเรื่องเที่ยวทางทะเล แต่อันดามัน ปริ๊นเซสยังยืนหยัดที่จะเดินหน้าต่อกับการท่องเที่ยวทางทะเล เพราะมองว่าธุรกิจยังมีช่องว่างที่จะก้าวต่อไปได้อีก โดยเฉพาะลูกค้าองค์กรหรืออินเซ็นทีฟ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อหัวค่อนข้างสูง

ปรับเส้นทาง-ระบบการจัดการ
หลังจากเกิดวิกฤตสึนามิเจ้าหญิงแห่งท้องทะเลได้ปรับตัวทางด้านธุรกิจ ด้วยการปรับเปลี่ยนด้านเส้นทางจากเดิม เดินเรือระยะไกลไปถึง เกาะสมุย เกาะพงัน มาเป็นไกลสุด อยู่ที่ทะเลจังหวัดระยอง ลดความถี่ในการเดินเรือไป จากเดิมเดินเรือ 4 เที่ยวต่อเดือน ปัจจุบันเหลือที่ 1 เที่ยวต่อเดือน

“เชื่อว่าช่วงปลายปีหลังจากที่ลูกค้าบุ๊กกิ้งเข้ามาคาดว่าจะกลับสู่ช่วงปกติ อีกทั้งเป็นช่วงไฮซีซัน ทั้งนี้ระบบการจัดการภายในเราให้พนักงาน 300 คน ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถทำงานแทนกันได้ในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ให้เน้นการบริการเป็นหัวใจสำคัญ “รองผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัทโอเชี่ยน ปริ้นเซส กล่าวอย่างมั่นใจ

เบนเข็มไปอ่าวไทย
อลงกชบอกว่า ธุรกิจในครึ่งปีหลัง จะต้องวางแผนใหม่ ด้วยการเดินเรืออ่าวไทยถึงสิ้นปี ส่วนฤดูกาลหน้าค่อยมาพิจารณาอีกทีกับเรื่องการกลับไปเดินเรือฝั่งอันดามันเช่นเดิม นอกจากนี้การตลาดนั้นจะออกแพ็กเกจ 1-2 ทริปต่อเดือนเพื่อกระตุ้น ส่วนระยะยาวเตรียมการตลาดรองรับโครงการภาครัฐ ริเวียร่า และการส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน อาทิ เกาะช้าง จังหวัดตราด

“เราเน้นการบริการแบบไทย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการได้เปรียบระยะยาวสำหรับการแข่งขันในอนาคต การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก (Brand Awareness) ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อคน ซึ่งแพ็กเกจประกอบด้วย ที่พัก อาหาร กิจกรรมสันทนาการ 3 วัน 2 คืน และ 4 วัน 3 คืน ทางบริษัทก็มีตอบสนองความต้องการลูกค้า แม้จะลดระยะทางลงแต่หันมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมและการบริการเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า คุ้มค่า

สิ่งที่ปรับเส้นทางหันมาเน้นอ่าวไทย จุดเด่นคือ ลูกค้าสามารถไปขึ้นเรือได้ที่ท่าเรือคลองเตย ทำให้สะดวกด้านค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับภูเก็ตซึ่งลูกค้าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง อัตราการเติบโตเดิม บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าแต่ละไตรมาสจะโต 50% มาถึงตอนนี้ทำได้คือการประคองตัวทั้งปี และการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายรอบด้าน

ให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย
“การสร้างการรับรู้ว่า ในเมืองไทย ยังมีเรือสำราญดำเนินการอยู่ รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย การบริการ เนื่องจาก ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการท่องเที่ยวทางทะเลไม่ปลอดภัยและหวาดกลัวกันอยู่ ถือเป็นโจทย์หนักที่เราต้องพยายาม” นายอลงกชกล่าว

กิจกรรมการตลาดช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม นี้จะเป็นโปรแกรมเที่ยวทะเล อาทิ เกาะช้าง เกาะกูด จังหวัดตราด ส่วนเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เริ่มเดินเรือตามโครงการริเวียร่า หรือชายฝั่งตะวันออกอ่าวไทย

สำหรับงบการตลาดที่วางเอาไว้ 20%ของยอดขาย ได้ใช้ด้านวางแผนสื่อ (Media Planning) เน้นหนักไปทางสื่อเฉพาะทาง เพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย รวมไปถึงการโปรโมตผ่านเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต

เน้นเจาะอินบาวด์
แผนปี 2549 บริษัทวางแผนจะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยว หรืออินบาวน์ให้มากขึ้น โดยจะประสาน- งานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักต่างประเทศต่างๆ ในการโรดโชว์ การแนะนำ ประชาสัมพันธ์ให้นักท่อง- เที่ยวรู้จักเรา

ถือเป็นการขยายธุรกิจต่อยอดจาก การตลาดในประเทศ (Domestic) ตั้งเป้าว่าสัดส่วนอินบาวด์จะเป็น 25% ของลูกค้าทั้งหมด ทั้งนี้โครงการในปี 2549 ชื่อ Air Sea Land หรือการท่องเที่ยวครบวงจร ทั้งทางอากาศ ทางบกและทางเรือ จะมีการจับมือกับพันธมิตร สายการบิน โรงแรมที่พัก และบริษัททัวร์ ระหว่างนี้กำลังเจรจาเงื่อนไข รองรับการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามันที่ปีหน้าเชื่อว่าจะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้

ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ กลุ่มลูกค้า จากต่างประเทศ อาทิ เกาหลี ทัวร์ฮันนี-มูน และออสเตรเลียที่มากับเครื่องบินเช่าเหมาลำหรือชาร์เตอร์ไฟลต์ ได้จองทัวร์เอาไว้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ได้ยกเลิกไป ซึ่งขณะนี้ได้เจรจากันใหม่ ซึ่งทัวร์ทั้ง 2 ประเทศ ตกลงว่าจะมาเที่ยวทางเรืออีกครั้ง คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้า

ปัจจัยผลกระทบนอกจากราคาน้ำมัน แล้ว ภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่าง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภัยก่อการร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล หวาดกลัว ดังนั้นที่แก้ได้ตอนนี้คือ เรื่องการประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่าง-ประเทศในการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาเช่นเดิม

กลยุทธ์ยุคตั้งรับ
รศ.ชื่นจิตต์ แจ้งเจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหา-วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวให้ความเห็นว่า ปัจจุบันตนมองว่าธุรกิจเรือสำราญอยู่ในภาวะเริ่มอิ่มตัว เนื่องจากกิจกรรมและการตลาดไม่หวือหวา ไม่มีความแปลกใหม่ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่นิยมเท่าที่ควร

สำหรับ โอเชี่ยน ปริ้นเซส นั้นแม้ขณะนี้ไม่มีคู่แข่ง ผูกขาดเพียงรายเดียวในตลาด ก็ต้องเข้าสู่ยุคการปรับตัว เนื่องจากปัจจัยสภาวะแวดล้อมบีบบังคับ อาทิ ราคาน้ำมัน อำนาจซื้อผู้บริโภคที่ชะลอ ไม่เพียงคนไทยเท่านั้น แต่แนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลก ความมั่นใจของประชาชน ทั้งนี้องค์กรส่วนใหญ่เน้นการประหยัดงบ

ทางออกของธุรกิจเรือสำราญที่อยู่ใน ภาวะตั้งรับสถานการณ์ที่บีบคั้น มองว่าถ้าหันมาทำการตลาดเชิงรุกคงยาก ดังนั้นการโฟกัส (Focus) ทั้งกลุ่มเป้าหมายและเลือกกิจกรรมให้สามารถเข้าถึงและวัดผลได้ ตามด้วย Cost Leadership เป็นการประหยัดต้นทุนและคัดสรรเรื่องกิจกรรมและงบ รวมไปถึงการวางแผนค่าใช้จ่ายด้วย


Resource:http://www.businessthai.co.th/bt/content.php?data=409379_Marketing

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น