วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พลัง CSR พลังบริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน




พลัง CSR พลังบริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน

กระแส CSR หรือ Corporate Social Responsibility ถูกปลุกขึ้นมาตั้งแต่ปี 1980 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดทุนนิยมที่มุ่งกำไรสูงสุด (Maximize Profit) ด้วยการกระตุ้นการบริโภคแบบเกินตัว
สู่แนวคิดการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ

หลายปีที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจต่างได้รับกระแสกดดันต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิด ต่างพากันนำ CSR บรรจุในพันธกิจ (Mission) และวิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กร และประยุกต์ใช้ภายใต้กระบวนการขับเคลื่อนธุรกิจโดยใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เริ่มจากการรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ ที่ต้องมีคุณภาพก่อนผลิตสู่ท้องตลาด ด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อพนักงานโดยการดูแลความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมระดับใกล้อย่างบริเวณรอบ ๆ โรงงาน และการแสดงความรับผิดชอบในระดับสังคมภาพใหญ่ที่มุ่งพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนในสังคม ด้วยแนวคิดที่ว่า “หากสังคมอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็จะอยู่ไม่ได้”

ปัจจุบันยุโรปได้มีการขับเคลื่อนแนวปฏิบัติข้ามชาติ โดยเรียกร้องให้บรรษัทข้ามชาติมี CSR และทำการค้าขายกับบริษัทที่มี CSR เท่านั้น จนในปี 2008 จะมีมาตรฐาน ISO 26000 มาเป็นแนวทางในการรับผิดชอบต่อสังคม

เป็นที่น่าสังเกตุว่าบริษัทที่มีแบรนด์ (Brand) เข้มแข็งทั้งหลาย ล้วนมาจากความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการที่บริษัทสามารถอยู่มาได้อย่างยาวนาน ยั่งยืนและมั่นคง ส่วนใหญ่จะมีการแสดงความห่วงใยต่อสังคม โดยผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ การสร้างแบรนด์ และ CSR จึงแทบจะหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และปัจจัยหนึ่งของการทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้บริโภคนั้น แบรนด์จะต้องสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust) และ Trust สร้างได้ด้วยกิจกรรม CSR และนี่เป็นการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในยุคที่ความน่าเชื่อถือของธุรกิจกำลังถูกบั่นทอนลงไปทุกขณะ

กระแสโลกในปัจจุบัน ตื่นตัวกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภค (Customer -Relationship) และการสร้างมุมมองด้านประสบการณ์ (Customer Experience) เกี่ยวกับแบรนด์ ทุกแบรนด์ในโลกจึงต้องดิ้นรนให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจ (Awareness) และสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust) ให้แบรนด์ของตนให้มากที่สุด

การสร้างแบรนด์ผ่าน CSR จึงเป็นมิติของการสร้างความน่าเชื่อถือที่สามารถก่อประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสังคม การดำเนิน CSR อย่างมีกลยุทธ์ยังสามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development) และเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) กระบวนการทางธุรกิจ CSR ยังจะช่วยให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency Management) รวมไปถึงการสร้างพันธมิตรที่ยั่งยืน (Partnership) ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรม CSR ที่จะเกิดประสิทธิผลสูงสุด ทั้งของธุรกิจและสังคม

จาก : MMP Magazine ฉบับที่ 1

Resource:http:http://www.mmpchula.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น